kcdintertrade@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 18:00

กว่าจะมาเป็นรังนก…ตอนที่ 3 การสร้างบ้านนก

เมื่อเลือกทำเลที่ตั้งของบ้านนกได้แล้ว สิ่งต่อไปก็คือการสร้างบ้านนก ด้วยธรรมชาติของนกนางแอ่นจะบินวนเป็นวงกลมเมื่ออยู่ภายในบ้าน ดังนั้นตึกนกจะต้องมีความกว้าง และยาว พอสมควร เพื่อให้นกบินได้อย่างอิสระตามธรรมชาติของมัน ความสูงของตึกตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป

โครงสร้างของตึกมีความแข็งแรง ก่อกำแพงโดยใช้อิฐมวลเบาประกอบกัน 2 ชั้น โดยเว้นระยะห่างเพื่อให้ลมสามารถถ่ายเทได้สะดวก และมีช่องลมช่วยระบายอากาศโดยเฉพาะ แต่ละชั้นของตึกจะเจาะช่องเพื่อให้นกบินลงได้ถึงชั้นล่างสุด และทุกชั้นจะมีรางน้ำไว้เพื่อให้อากาศมีความชื้นพอเหมาะ มีพัดลมเป่าระบายอากาศให้ทั่ว หรืออาจจะใช้ตัวปั่นหมอกช่วยเพื่อเพิ่มความชื้นให้กับบ้านนกเมื่อถึงฤดูร้อน

ภายในอาคารจะติดตั้งระบบเสียงไว้ในทุกชั้น และเพิ่มตรงปากปล่องด้านบนสุดเพื่อเรียกนก โดยระดับความถี่ของเสียงเรียกจะไม่เหมือนกัน เสียงเรียกภายนอกอาคารจะเป็นแบบที่เรียก หรือเชิญชวนให้นกนางแอ่นเข้ามาสำรวจภายในบ้าน ส่วนระบบเสียงภายในอาคารจะเป็นเสียงของลูกนก การหาคู่ โดยเชิญชวนให้น่าเข้ามาอยู่อาศัย มีครอบครัว มีลูก กลางคืนก็จะเป็นเสียงกล่อมนอน

ที่สำคัญอีกอย่างนั่นก็คือ ไม้ตีรัง ส่วนใหญ่มักใช้ไม้เนื้ออ่อน และกลิ่นน้อยที่สุด นั่นก็เพราะว่า เมื่อนกเข้ามานอนในบ้าน มันต้องใช้เล็บของมันในการเกาะพยุงตัวอยู่ หากไม้นั้นแข็งเกินไป กรงเล็บของนกจะไม่สามารถเกาะที่ไม้ได้ และบางครั้งต้องมีการเซาะแผ่นไม้ให้เป็นร่อง เพื่อช่วยการเกาะของนกนางแอ่น แต่จะไม่เซาะลึกเกินไป เพราะจะทำให้แซะรังยาก ส่วนกลิ่นน้อยที่สุดนั้นก็เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับนก เฉกเช่นเดียวกันกับคนที่ไม่ชอบบ้านใหม่ที่เพิ่งทาสีและมีกลิ่นรุนแรงเช่นเดียวกัน ขนาดหน้าไม้จะอยู่ที่ประมาณ 6-8 นิ้ว เพราะเมื่อนกเกาะทิ้งตัวลงกับไม้ จะรองรับกับขนาดของตัวนกได้พอดี บ้านนกบางหลังจะเพิ่มไม้ปิดมุม เพื่อทำให้รังนกที่ได้ จะได้เฉพาะรูปถ้วย และรังกระเทย ลดปริมาณรังมุมลงไป

ภายในตึกอาจจะมีห้องไว้สำเร็จควบคุมระบบความชื้น ระบบเสียง และดูภายในอาคารผ่านกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจดูความเรียบร้อยภายในโดยที่ไม่ต้องเข้าไปในบ้านนก และจะเข้าไปเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะนกจะสามารถจับกลิ่นที่แปลกปลอมอย่างกลิ่นมนุษย์ได้ชัดเจน

ภายนอกอาคาร อาจจะมีการติดระบบไฟเพื่อป้องกันสัตว์แปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อนกนางแอ่น เช่น หนู งู ตุ๊กแก เป็นต้น

และเมื่อเราสร้างตึกเรียบร้อยแล้ว ระบบความชื้นดี ระบบเสียงได้ ก็ต้องมีตัวช่วยเพิ่มในการเรียกนก นั่นก็คือกลิ่น โดยเราใช้มูลนกนางแอ่นมาโรยภายในบ้าน หรืออาจจะใช้ฮอร์โมนที่มีกลิ่นช่วย เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนไม่ใช่ตึกใหม่ ให้เหมือนกับมีนกอาศัยอยู่แล้ว เพื่อเรียกพรรคพวกมันมาเพิ่มเติม

การทำบ้านนกนางแอ่น ต้องอาศัยระยะเวลา บางครั้ง 2-3 ปี ถึงจะเริ่มเก็บรังนกได้ ยิ่งนาน นกก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เราต้องคอยหมั่นตรวจเช็คระบบต่างๆทั้งภายในและภายนอกให้อยู่ในสภาพดีเสมอ เพื่อเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การอาศัยและขยายพันธุ์นกนางแอ่นต่อไป

ในตอนหน้าเราจะมาเรียนรู้ถึงการเก็บรังนกกัน ติดตามกันต่อนะคะ ^^

ตอนที่ 1 รู้จักนกนางแอ่น

ตอนที่ 2 แหล่งที่ตั้งของบ้านนก

ตอนที่ 4 การเก็บรังนก

ตอนที่ 5 การทำความสะอาดรังนก

ตอนที่ 6 การดูแลบ้านนก

ตอนที่ 7 คำถามน่าสงสัยเกี่ยวกับรังนก

Website : www.shewonthaibirdnest.com

บทความแนะนำ

แสดงความคิดเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *